วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ประวัติยุทธนาวีเกาะช้าง


ยุทธนาวีที่เกาะช้างเป็นเหตุการณ์การรบทางเรือ ซึ่งเกิดขึ้นสืบเนื่องจากกรณีพิพาทระหว่างไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส เป็นเหตุการณ์ซึ่งแทรกเข้ามาในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังรบติดพันกันในยุโรป กล่าวคือในเดือนกันยายน พ.ศ. 2483 ขณะที่ฝรั่งเศสจะประกาศสงครามกับเยอรมนี ฝรั่งเศสได้ขอให้รัฐบาลไทย ทำสัญญาไม่รุกรานกันทางแหลมอินโดจีน รัฐบาลไทยได้ตอบฝรั่งเศสไปว่า ไทยยินดีจะรับข้อตกลงตามคำขอของฝรั่งเศส แต่ขอให้ฝรั่งเศสตกลงบางประการ คือให้ฝรั่งเศสปรับปรุงเส้นแบ่งเขตแดนให้ถูกต้อง ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และหลักความยุติธรรม โดยฝ่ายไทยได้เสนอให้ถือแนวร่องน้ำลึกเป็นเกณฑ์ และให้ฝรั่งเศสคืนดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงที่ฝรั่งเศสยึดไป คืนให้ไทย เป็นต้น แต่ปรากฏว่าไม่เป็นที่ตกลงกัน ต่อมาราษฎรได้เดินขบวนแสดงประชามติ เรียกร้องดินแดนที่เสียไปอย่างหนักและรุนแรงยิ่งขึ้น การเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้โดยสันติวิธี ฝรั่งเศสได้โจมตีประเทศไทยก่อน โดยส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483 อันเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ที่ใช้กำลังทหารเข้าสู้รบกันทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ สำหรับกำลังทางเรือได้มีการรบกันที่บริเวณด้านใต้ของเกาะช้าง ระหว่างกำลังทางเรือของไทย และของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2484

เมื่อฝรั่งเศสเริ่มรุกรานประเทศไทย โดยส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่จังหวัดนครพนมแล้ว กองทัพเรือเริ่มดำเนินการตามคำสั่งในแผนชั้นต้นนั้น ได้จัดส่งกำลังไปป้องกันตำบลคลองใหญ่ จังหวัดตราด อันเป็นตำบลชายแดนสุดทางตะวันออก ซึ่งติดต่อกับเขตอินโดจีนฝรั่งเศส ทั้งนี้เพื่อป้องกันประเทศ และให้เกิดความอบอุ่นใจแก่ราษฎรในเขตนั้น และได้เริ่มทำการลำเลียงทหารนาวิกโยธินอันเป็นกำลังส่วนใหญ่ของกองพลจันทบุรี ไปยังจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดตราด
การลำเลียงทหารอาวุธยุทโธปกรณ์ ยุทธสัมภาระ และอื่นๆ ไปยังจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดตราด ในระหว่างกรณีพิพาทครั้งนี้รวมทั้งสิ้น ไม่น้อยกว่า 15 ครั้ง แต่ละครั้งมีการจัดกำลังทางเรือคอยควบคุมและคุ้มกันตามยุทธวิธีทุกครั้ง
สำหรับแผนขั้นต่อมา กองทัพเรือได้จัดให้มีการลาดตระเวนค้นหาข้าศึก นอกจากนั้นเพื่อป้องกันการยกพลขึ้นบกของข้าศึก ทางฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย กองทัพเรือได้รวมกำลังเป็นครั้งคราว แถวบริเวณเกาะช้างและเกาะกูด ได้ดำเนินการลาดตระเวน จัดการรักษาด่าน ตรวจด่าน ด้วยการที่กองทัพเรือมารวมกำลัง อยู่ในบริเวณนี้ ย่อมทำความอบอุ่นใจให้แก่ราษฎรชายฝั่งตะวันออก บริเวณจังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด และตำบลคลองใหญ่ ให้ความปลอดภัยแก่การเดินเรือ การค้าขายตามชายฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย
อ้างอิงhttp://www.navy.mi.th/navalmuseum/002_history/html/his_b23_gauchang_thai.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น